ไอศกรีม ของหวานเย็นๆที่ทุกคนชื่นชอบ

“ไอศกรีม” หรือ ไอศครีม (Ice Cream) หรือภาษาปากว่า ไอติม เป็นของหวานแช่แข็งชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบหลักๆ เช่น นม ครีม น้ำตาล และน้ำ โดยการนำส่วนผสมไปผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วนำไปปั่นในที่เย็นจัด เพื่อเป็นการเติมอากาศเข้าไปพร้อมๆกับการลดอุณหภูมิ ทำให้ไอศกรีมมีลักษณะข้นฟู เนื้อแน่นหนืดและเย็น อาจมีการเติมส่วนผสมอื่นๆเพื่อให้ได้กลิ่นรสตามต้องการ เช่น น้ำผลไม้ ผลไม้สด กะทิ ถั่วชนิดต่างๆ และสารปรุงแต่งกลิ่นรส เช่น กลิ่นวานิลา กลิ่นช็อคโกแลต เป็นต้น จากนั้นนำส่วนผสมที่ได้ไปผ่านการแช่แข็งอีกครั้งก่อนนำมารับประทาน

ต้นกำเนิดไอศกรีม และจุดเริ่มต้นในประเทศไทย

อ้างอิงจากหลายแหล่งข้อมูลกล่าวว่า ต้นกำเนิดของไอศกรีมนั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเริ่มต้นมาจากไหน บ้างก็ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ที่ได้มีการพระราชทานเลี้ยงไอศกรีมแก่เหล่าทหาร โดยในสมัยนั้นไอศกรีมยังเป็นเพียงแค่หิมะผสมกับน้ำผึ้งและผลไม้เท่านั้น แต่บ้างก็ว่าไอศกรีมมาจากประเทศจีน เกิดจากชาวจีนคิดวิธีเก็บรักษานม โดยการนำนมไปฝังในหิมะ จนนมแข็งตัวกลายเป็นไอศกรีมขึ้นมา และต่อมาในศตวรรษที่ 13 มาร์โคโปโลเดินทางกลับมาจากจีน ได้นำสูตรไอศกรีมมาพัฒนาและเผยแพร่ต่อ ในช่วงแรกนั้นไอศกรีมเป็นเพียงครีมหวานเย็นที่รับประทานกันในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น จนต่อมาได้มีการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องปั่นไอศกรีมขึ้นมาโดยอาศัยความเย็นจากน้ำแข็งผสมเกลือ ทำให้การผลิตไอศกรีมทำใด้ง่ายขึ้น ไอศกรีมจึงกลายเป็นของหวานที่คนทั่วไปสามารถหารับประทานได้ไม่ยาก และไอศกรีมก็ได้มีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนมีรูปแบบที่หลากหลายและหลายรสชาติให้เลือกรับประทานกันอย่างในทุกวันนี้

ส่วนในประเทศไทยนั้น ไอศกรีมเริ่มเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยามหลังจากเสร็จประพาสอินเดีย, ชวา และสิงคโปร์ ในช่วงแรกไอศกรีมถือเป็นของเสวยเฉพาะสำหรับเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น จนต่อมาเมื่อมีโรงงานทำน้ำแข็ง ก็เริ่มมีการทำไอศกรีมรับประทานกันมากขึ้น ไอศกรีมกะทิก็เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยนั้น และมีการพัฒนาดัดแปลงสูตรมาเรื่อยๆ ส่วนไอศกรีมหลอดหรือไอศกรีมแท่ง เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยการนำน้ำหวานมาใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็ง เสียบไม้ถือรับประทาน ซึ่งไอศกรีมแบบหลอดก็มีการพัฒนาจนมาเป็นไอศกรีมโบราณที่มีส่วนผสมของนม มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม อาจทานเป็นแท่งหรือตัดใส่ถ้วยรับประทานก็ได้ จากนั้นมาก็เป็นยุคของไอศกรีมแบบวัฒนธรรมตะวันตกจนถึงปัจจุบัน

ชนิดของไอศกรีม

จริงๆแล้ว การแบ่งชนิดของไอศกรีมนั้นสามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งตามส่วนผสม ตามกรรมวิธีการผลิต ตามกลุ่มรสชาติ หรือแม้แต่การแบ่งตามภูมิภาคที่ผลิต ซึ่งในบทความนี้ จะขอยกตัวอย่างชนิดของไอศกรีม ในหัวข้อที่น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุด

อันดับแรกเริ่มจากที่เป็นทางการสักนิด คือการแบ่งชนิดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 354 (พ.ศ. 2556) ได้แบ่งไอศกรีมออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่

  1. ไอศกรีมนม หมายถึง ไอศกรีมที่ทำขึ้นโดยใช้นม หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม
  2. ไอศกรีมดัดแปลง หมายถึง ไอศกรีมที่ทำขึ้นโดยใช้ไขมันชนิดอื่นแทนไขมันจากนมทั้งหมดหรือแค่บางส่วน
  3. ไอศกรีมผสม หมายถึง ไอศกรีมนม หรือไอศกรีมดัดแปลง ที่มีผลไม้ หรือวัตถุอื่นที่เป็นอาหารเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย
  4. ไอศกรีมผงหรือเหลว หมายถึง ไอศกรีมตามข้อ 1-3 ในรูปแบบผง ซึ่งต้องนำมาเติมน้ำ หรือรูปแบบของเหลว แล้วนำมาปั่นให้เป็นเนื้อไอศกรีมเย็นๆ ก่อนรับประทาน
  5. ไอศกรีมหวานเย็น หมายถึง ไอศกรีมที่ไม่มีส่วนผสมของนม ทำขึ้นโดยใช้น้ำและน้ำตาล หรืออาจมีวัตถุอื่นที่เป็นอาหารผสมอยู่ด้วย
อันดับต่อมา เมื่อพิจารณาเฉพาะไอศกรีมนมที่เป็นไอศกรีมชนิดหลักลึกลงไป จะสามารถจำแนกชนิดตามปริมาณไขมันนมได้อีก ดังนี้

  1. ไอศกรีมปราศจากไขมัน (Non-Fat Ice Cream) คือไอศกรีมที่ไม่มีไขมันนมเลย หรือมีปริมาณน้อยกว่า 0.8%
  2. ไอศกรีมไขมันต่ำ (Low-Fat Ice Cream) คือไอศกรีมที่มีปริมาณไขมันนมต่ำ อยู่ที่ 2-4%
  3. ไอศกรีมธรรมดา (Standard Ice Cream) คือไอศกรีมที่มีปริมาณไขมันนม 10-12% ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับไอศกรีมทั่วๆไป
  4. ไอศกรีมพรีเมียม (Premium Ice Cream) คือไอศกรีมที่มีปริมาณไขมันนมสูง อยู่ที่ 12-16% ซึ่งเนื้อไอศกรีมจะมีความเข้มข้นมากขึ้น
  5. ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ (Soft Serve Ice Cream) คือไอศกรีมที่มีปริมาณไขมันนม 3-6% ซึ่งจะมีเนื้อสัมผัสนุ่มและละลายเร็วกว่าไอศกรีมทั่วไป
สุดท้าย เป็นการแบ่งไอศกรีมตามส่วนผสมหลักและวิธีการผลิต ซึ่งผู้เขียนขอเลือกมาเฉพาะไอศกรีมชนิดต่างๆที่คนส่วนใหญ่คุ้นหูกันดี ได้แก่

  1. ไอศกรีมธรรมดา (Standard Ice Cream)
    เริ่มต้นที่ ไอศกรีมธรรมดาที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมของนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม น้ำตาล และวัตถุที่เป็นอาหารชนิดอื่นๆที่ใช้ในการปรุงแต่งรส กลิ่น และสี มีเนื้อสัมผัสนุ่มเนียน และเหนียว โดยต้องผ่านขั้นตอนการตีปั่นพร้อมให้ความเย็นจนเป็นครีมเหนียวหนืด และทำการแช่แข็งอีกครั้งก่อนนำมารับประทาน
  2. ไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ (Soft Serve Ice Cream)
    เป็นไอศกรีมเนื้อเนียนนุ่ม ที่มีปริมาณไขมันต่ำกว่าไอศกรีมธรรมดา เป็นไอศกรีมที่ไม่มีการแช่แข็งก่อนรับประทาน แต่ทำโดยนำส่วนผสมใส่เครื่องปั่นไอศกรีมแล้วบีบออกมารับประทานได้เลย
  3. กรานิต้า (Granita) และ ซอร์เบต์ (Sorbet)
    ไอศกรีม 2 ชนิดนี้คล้ายกันคือมีลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็ง มีส่วนผสมหลักๆคือ น้ำผลไม้และน้ำตาล โดยไม่มีส่วนผสมจากนมหรือไขมัน มักเสิร์ฟรับประทานระหว่างมื้ออาหารเพื่อล้างปาก โดยซอร์เบต์จะแตกต่างจากกรานิต้าตรงที่ซอร์เบต์มีเนื้อสัมผัสที่เนียนละเอียดกว่ากรานิต้า ซึ่งกรานิต้าจะให้ความรู้สึกที่กรุบกรอบมากกว่า
  4. เชอร์เบต (Sherbet)
    เป็นไอศกรีมที่มีส่วนผสมหลักคือน้ำผลไม้และน้ำตาล คล้ายๆกับซอร์เบต์ แต่จะต่างกันตรงที่เชอร์เบตจะมีนมเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ทำให้เชอร์เบตมีเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่มหอมมัน พร้อมๆกับได้รสชาติเปรี้ยวหวานกลมกล่อมจากน้ำผลไม้ที่เป็นส่วนผสมหลัก
  5. โฟรเซนโยเกิร์ต (Frozen Yoghurt)
    เป็นไอศกรีมที่มีลักษณะและขั้นตอนการผลิตแบบเดียวกับไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ แต่จะใช้โยเกิร์ตไขมันต่ำเป็นส่วนผสมแทนนมในสูตร อาจมีการเติมกลิ่นรสผลไม้ หรือท้อปปิ้งด้วยผลไม้เพื่อให้มีรสชาติที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจุดเด่นคือเป็นไอศกรีมที่ให้พลังงานต่ำ เหมาะสำหรับคนรักไอศกรีมที่ยังเป็นห่วงเรื่องสุขภาพและรักษารูปร่าง
  6. เจลาโต (Gelato)
    คำว่า Gelato เป็นภาษาอิตาเลียนแปลตรงตัวว่า เยือกแข็ง (Frozen) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกไอศกรีมในภาษาอิตาเลียน หรือกล่าวง่ายๆว่า เจลาโตก็คือไอศกรีมสัญชาติอิตาเลียนนั่นเอง เจลาโตจะมีเนื้อสัมผัสที่แน่นหนึบกว่าไอศกรีมทั่วไป เนื่องจากใช้กรรมวิธีการตีปั่นอากาศเข้าน้อยกว่า และมีปริมาณนมและไขมันในสูตรน้อยกว่า ทำให้มีรสชาติที่เข้มข้น เนื้อแน่นแต่นุ่มลิ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไอศกรีมเจลาโตที่ใครๆรู้จักกันดี
จะเห็นว่า ไอศกรีมที่เรารู้จักนั้นมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายรสชาติ เป็นของหวานแสนอร่อยที่ทุกคนโปรดปราน และหารับประทานกันได้อย่างง่ายดาย จนบางทีอาจลืมไปว่า ส่วนประกอบหลักของไอศกรีมคือ น้ำตาลและไขมัน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว ไอศกรีม 1 ลูก (ประมาณ 110 g) อาจมีพลังงานมากถึง 300 กิโลแคลอรี่เลยทีเดียว ดังนั้น การรับประทานไอศกรีมมากไป ก็อาจจะไม่เป็นผลดีนัก ผู้รับประทานจึงควรเลือกทานแต่พอดี หรือเลือกชนิดที่มีไขมันต่ำ หวานน้อย หลีกเลี่ยงไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย และอาจเพิ่มเติมส่วนผสมของผลไม้ ถั่วต่างๆ เพื่อเพิ่มวิตามินและใยอาหารให้กับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง

“Food Ingredient Technology Co., Ltd. เป็นตัวแทนจำหน่าย นมผงและผลิตภัณฑ์จากนม ของบริษัทฯชั้นนำในยุโรป ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการทำไอศกรีม ได้แก่ นมผงและนมผงขาดมันเนย ในรูปที่เป็น Full cream milk replacer และ Skimmed milk replacer ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์นมผงอื่นๆ เช่น Sodium caseinate, Whey protein concentrate, Milk protein concentrate, Whey protein isolate และ Yoghurt powder เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ ได้หลากหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีจำหน่าย สารให้ความคงตัว สารปรุงแต่งกลิ่นรส วิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ซึ่งสะดวกต่อการนำไปเพิ่มคุณค่าในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เช่น ไอศกรีม อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ซุป ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป เป็นต้น รวมถึงทางบริษัท ฯสามารถพัฒนาและนำเสนอสินค้าในรูปผลิตภัณฑ์พรีมิกซ์ เช่น Ice-cream powder mixes หากสนใจสามารถติดต่อ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail : sales@fit-biz.com

เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :
  1. บทความเรื่อง “ice cream/ไอศกรีม”, www.foodnetworksolution.com
  2. บทความเรื่อง “ไอศกรีม”, https://th.wikipedia.org
  3. บทความเรื่อง “ทำความรู้จัก 7 ประเภทของไอศกรีมจากทั่วโลก ของหวานเย็นฉ่ำที่ใครๆ ก็หลงรัก”, https://thestandard.co
  4. บทความเรื่อง “ประเภทไอศกรีมที่ใครๆ ก็เลิฟ”, www.the1.co.th
  5. บทความเรื่อง “ไอศกรีม เรื่องน่ารู้จากความหวาน-เย็น”, www.komchadluek.net
  6. บทความเรื่อง “ไอศกรีม (Ice Cream) มีกี่ประเภท ของหวานคลายร้อนที่ดีต่อใจ ปังปุริเย่”, www.sanook.com

 

เรียบเรียงโดย

อทิตยา ทรัพย์สะสม
เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาวุโส / Food Supplement

บริษัท ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เทคโนโลยี จำกัด
1526-1540 ซอยพัฒนาการ 48 ถนนพัฒนาการ
แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
โทรศัพท์ : 0 2073 0977
โทรสาร : 0 2722 9389
อีเมล์ : sales [at] fit-biz.com


สงวนลิขสิทธิ์ ©2562 บริษัท ฟู้ด อินกรีเดียนท์ เทคโนโลยี จำกัด

GFCA Co., Ltd.