What is Minerals?

 

แร่ธาตุ หรือเกลือแร่ (Minerals) คือ สารประกอบอนินทรีย์ที่เป็นองค์ประกอบของอาหารส่วนที่เหลือเป็นเถ้าหลังจากการเผาไหม้สารอินทรีย์ทั้งหมดในเนื้อเยื่อพืชและสัตว์ เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ร่างกายต้องการในปริมาณไม่มาก แต่ก็ขาดไม่ได้ โดยเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในด้านการเสริมสร้างความแข็งแรงและควบคุมการทำงานของส่วนต่าง ๆ เช่น ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในทุกๆอวัยวะให้ทำงานปกติ ช่วยควบคุมการทำงานฮอร์โมน และรักษาสมดุลของการไหลเวียนของของเหลวในร่างกาย เป็นต้น และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างของร่างกาย เป็นองค์ประกอบของเซลล์ เนื้อเยื่อ และเส้นประสาท รวมไปถึงเอนไซม์ ฮอร์โมน และวิตามินต่าง ๆ โดยร่างกายของเราจะมีแร่ธาตุอยู่ประมาณ 4% ของน้ำหนักตัว

Minerals

ชนิดของแร่ธาตุ

แร่ธาตุหรือเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายมีประมาณ 17 ชนิด มีอยู่ในร่างกายและในอาหารที่เรารับประทาน โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
 

แร่ธาตุหลัก (Macro minerals) 

หรือเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เป็นเกลือแร่ที่มีอยู่ในร่างกายมากกว่าร้อยละ 0.01 ของน้ำหนักตัว และต้องการจากอาหารมากกว่า 100 มิลลิกรัมขึ้นไปต่อวัน เกลือแร่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ แคลเซียม (Calcium), ฟอสฟอรัส (Phosphorous), แมกนีเซียม (Magnesium), โพแทสเซียม (Potassium), โซเดียม (Sodium), คลอไรด์ (Chloride), และกำมะถันหรือซัลเฟอร์ (Sulfur)

แร่ธาตุรอง (Trace minerals) 

หรือเกลือแร่ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย จะเป็นเกลือแร่ที่มีอยู่ในร่างกายเพียงเล็กน้อย และต้องการจากอาหารน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน เกลือแร่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ธาตุเหล็ก (Iron), ซีลีเนียม (Selenium), โคบอลต์ (Cobalt), โครเมียม (Chromium), ทองแดง (Copper), แมงกานีส (Manganese), โมลิบดีนัม (Molybdenum), ฟลูออไรด์ (Fluoride), วาเนเดียม (Vanadium), สังกะสี (Zinc), และไอโอดีน (Iodine)

ประโยชน์ของแร่ธาตุต่อร่างกาย

1. ช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท และช่วยในการแข็งตัวของเลือด

2. มีความเกี่ยวข้องและเป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน (แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และฟลูออรีน)

3. ช่วยควบคุมการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ (แคลเซียม)

4. ช่วยควบคุมความสมดุลของของเหลวชนิดเกลือแร่ (Electrolyte) ในร่างกาย เช่น โพแทสเซียม (Potassium), โซเดียม (Sodium) เป็นต้น

5. บางชนิดมีบทบาทเกี่ยวกับการรับส่งความรู้สึกของเส้นใยประสาทจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปสู่อีกเซลล์หนึ่ง (โพแทสเซียม โซเดียม)

ประโยชน์ของแร่ธาตุต่อร่างกาย

6. ช่วยรักษาความสมดุลของกรดและด่างภายในร่างกาย โดยกลไกของร่างกายจะทำหน้าที่ปรับภาวะเพื่อรักษาความเป็นกลาง เพื่อช่วยให้เซลล์มีชีวิตอยู่ได้ (โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส)

7. ช่วยควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกาย เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของของเหลวจากส่วนหนึ่งไปยังอีกส่วนในร่างกายนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้นของแร่ธาตุในบริเวณนั้น ๆ ด้วย ซึ่งในร่างกายจะมีน้ำอยู่ประมาณร้อยละ 60

8. เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมี เช่น ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ช่วยส่งเสริมการดูดซึมอาหารและวิตามิน ช่วยเร่งในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ให้เป็นก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ น้ำ และพลังงาน เป็นต้น (สังกะสี ทองแดง โครเมียม)

9. เป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย และยังเป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของสารประกอบต่าง ๆ เช่น กรดอะมิโน และฟอสโฟลิปิด เป็นต้น

ปริมาณของแร่ธาตุที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

แร่ธาตุ ปริมาณที่แนะนำ (มิลลิกรัม / วัน) พบในอาหาร
โพแทสเซียม 3,500 ผักและผลไม้
คลอไรด์ 3,400 อาหารธรรมชาติเกือบทุกชนิด และพบได้มากที่สุด ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และในอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ
โซเดียม  2,400 พบได้มากในนมโค
แคลเซียม 800 พบได้ในอาหารจำพวกธัญพืชและนม
ฟอสฟอรัส  800 พบได้มากในนมโค ธัญพืช เนื้อสัตว์ และไข่
แมกนีเซียม 350 พบได้ในในผักใบเขียว
ธาตุเหล็ก 15 พบได้มากในตับ ไต หอย ไข่แดง โกโก้ ผักสีเขียว ผลไม้เปลือกแข็ง แป้งจากธัญพืชทั้งเมล็ด ส่วนนมพบว่ามีธาตุเหล็กน้อย
สังกะสี 15 พบได้มากในหอยนางรม นม รำข้าว จมูกข้าวสาลี และพบได้บ้างในผัก ขนมปัง เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ธัญพืช และผลไม้เปลือกแข็ง
แมงกานีส  3.5 พบได้มากในผลไม้เปลือกแข็ง นม ไข่ และธัญพืช ส่วนเนื้อสัตว์ปีก นม และอาหารทะเลจะมีแมงกานีสน้อย
ฟลูออไรด์ 2 พบได้น้ำ ในอาหารทะเล และเนื้อสัตว์
ทองแดง 2 พบได้มากใน หอยนางรม สมองสัตว์ ตับ ไต โกโก้ ผลไม้เปลือกแข็ง ลูกท้อ องุ่น
โมลิบดีนัม 10 พบได้ในตับ ไต ธัญพืช พืชน้ำมัน และผักกินใบ
ไอโอดีน  150 พบได้ในอาหารทะเลและน้ำดื่ม
โครเมียม  130 พบได้มากในไข่แดง เครื่องในสัตว์ เนยแข็ง ยีสต์ เนื้อสัตว์ และธัญพืชที่ไม่ได้ขัดสี
ซีลีเนียม  70 พบได้มากในยีสต์ ขนมปัง ผักและผลไม้แทบทุกชนิด
โคบอลต์ - พบได้มากในผักกินใบ เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะตรงส่วน ของตับและไต ส่วนนมโค แป้ง และธัญพืชจะมีโคบอลต์น้อย

หมายเหตุ : ปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (Thai Recommended Daily Intakes - Thai RDI) สำหรับผู้ที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี่

แต่ละคนมีความต้องการแร่ธาตุหรือสารอาหารต่างๆในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพร่างกาย สภาพอากาศ สุขภาพ เพศ และอายุ เป็นต้น จึงควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายให้มากที่สุด

 

Food Ingredient Technology Co., Ltd. จำหน่ายแร่ธาตุ หรือเกลือแร่ (Minerals) มากมายหลากหลายชนิด นำเข้าทั้งจากประเทศเยอรมนี และประเทศเนเธอร์แลนด์ เหมาะสำหรับนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น อาหารเสริม เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม เบเกอรี่ และของหวานชนิดต่าง ๆ หากสนใจสามารถติดต่อ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail :   sales@fit-biz.com

mineral-from-fruit-vegetable
เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :
  1. บทความเรื่อง “16 ประโยชน์ของเกลือแร่ ! (Minerals)”,   medthai.com
  2. บทความเรื่อง “แร่ธาตุ คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร”,   healthgossip.co

เรียบเรียงโดย
อทิตยา  ทรัพย์สะสม

 

Food Ingredient Technology Co., Ltd.
1526-1540 Soi Phatthanakan 48, Phatthanakan Road,
Phatthanakan, Suan Luang, Bangkok 10250, Thailand
Tel : +66 2073 0977
Fax : +662 7229389


© Copyright 2019 by Food Ingredient Technology. All Rights Reserved.

GFCA Co., Ltd.