What kind of sweetener instead of sugar is good?

ปัจจุบันนี้ หนึ่งในเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งโดยปกติแล้ว การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะใช้สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด แต่ในปัจจุบัน ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายสำหรับคนทั่วไปที่ต้องการดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก
สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่มีการใช้ในอาหารในปัจจุบันมีหลายชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
  1. 1. สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดที่ให้พลังงาน
    ได้แก่ ฟรุกโตส(fructose) กลูโคส(Glucose) มอลทิทอล(Maltitol) ซอร์บิทอล(Sorbitol) และไซลิทอล(Xylitol) เป็นต้น สารให้ความหวานกลุ่มนี้มีทั้งแบบที่ให้ความหวานมากกว่า และน้อยกว่าน้ำตาลทราย(Sucrose) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก แต่จะใช้เนื่องจากต้องการคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็ว(ฟรุกโตสและกลูโคส) หรือช่วยลดแบคทีเรียในช่องปาก(ไซลิทอล) เป็นต้น
     
  2. 2. สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดที่ไม่ให้พลังงาน
    หรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส(Sucralose) แอสปาแตม(Aspartame) อะซีซัลเฟม-เค(Acesulfame K) แซคคารีน(Saccharin)หรือขัณฑสกร และสตีเวีย(Stevia)หรือหญ้าหวาน เป็นต้น ซึ่งสารให้ความหวานกลุ่มนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน
Dessert
Kind of sugar

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน

  • แอสปาแตม (Aspartame)
  • ซูคราโลส (Sucralose)
  • สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน
  • ไซลิทอล (Xylitol)
Aspartame

แอสปาแตม (Aspartame)

เป็นสารให้ความหวานที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย มีความหวานมากกว่าน้ำตาลประมาณ 200 เท่า มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลทรายมากที่สุด แต่จะทิ้งรสขมปลายเล็กน้อย มีข้อดีคือไม่ให้พลังงาน ไม่ก่อให้เกิดฟันผุ และไม่เพิ่มปริมาณน้ำตาลในเลือด จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้ในอาหารเพื่อให้ได้รสหวานแทนน้ำตาล โดยเฉพาะในเครื่องดื่มอัดลม และเครื่องดื่มอีกหลายชนิด แต่มีข้อเสียคือ ไม่ทนทานต่อความร้อน จึงอาจไม่เหมาะสำหรับอาหารบางชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูง แต่ถึงแม้จะมีการใช้แอสปาแตมมาอย่างยาวนาน และมีการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1980 ก็ยังมีหลายๆงานวิจัยรายงานว่า แอสปาแตมมีผลเสียต่อต่อร่างกาย หากรับประทานมากเกินไป

ซึ่งสาเหตุของอันตรายต่างๆ อาจเป็นผลมาจากองค์ประกอบของแอสปาแตมทั้ง 3 ชนิด ดังนี้

  • 1.1 ฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) เป็นกรดอะมิโนธรรมชาติ มีอยู่ประมาณ 50% ขององค์ประกอบทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria) จะไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนชนิดนี้ได้ จึงจำเป็นต้องเลี่ยงการบริโภคแอสปาแตมอย่างสิ้นเชิง
  • 1.2 กรดแอสปาติก (Aspartic acid) เป็นกรดอะมิโนธรรมชาติ มีอยู่ประมาณ 40% ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สามารถผ่านเยื่อหุ้มสมองเข้าสู่เซลล์สมองได้ หากได้รับในปริมาณมากๆ อาจส่งผลให้เซลล์สมองเสียหาย เกิดความผิดปกติกับสมองและระบบประสาทได้
  • 1.3 เมทานอล (Methanol) มีอยู่ประมาณ 10% เป็นสารที่หากได้รับมากเกินไป อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ ซึ่งโดยปกติแล้วเมทานอลก็มีอยู่ในอาหารทั่วไป แต่อาหารเหล่านั้นจะมีเอทานอล (Ethanol) รวมอยู่ด้วย เพื่อต่อต้านการเป็นพิษของเมทานอล แต่ในแอสปาแตม ไม่มีการเติมเอทานอลลงไป ทำให้ไม่มีตัวป้องกันความเป็นพิษ โดยเมทานอลนั้นสามารถแตกตัวไปเป็นสารฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง จึงอาจส่งผลทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ หรือทำให้มีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน และบางกรณีอาจไปทำลาย DNA ในเซลล์ร่างกายได้

แต่ทั้งนี้ หากไม่ได้รับประทานแอสปาแตมมากจนเกินไป ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้บริโภคควรรับประทานอย่างพอเหมาะ และเหมาะสมต่อสุขภาพของตนเอง

Sucralose

ซูคราโลส (Sucralose)

เป็นสารให้ความหวานที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลถึงประมาณ 600 เท่า เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นจากน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) จึงมีรสชาติคล้ายน้ำตาล มีรสอร่อย และไม่มีรสขมติดลิ้น อีกทั้ง ไม่ให้พลังงาน ไม่ทำให้ฟันผุ ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับอินซูลิน เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ยังละลายน้ำได้ดี ทนทานต่อความร้อนสูง สามารถนำไปปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูงได้โดยไม่สูญเสียความหวาน

ซูคราโลสเป็นสารให้ความหวานที่มีความปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นสารเคมีแต่ก็เป็นเคมีที่ไม่มีสารสะสมในร่างกาย ซึ่งองค์การอนามัยโลกยอมรับเป็นทางการแล้วว่ากระบวนการผลิตมีความปลอดภัยเทียบเท่าน้ำตาลจากธรรมชาติ แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากการผลิตซูคราโลสทำโดยการเพิ่มคลอรีนเข้าไปในโมเลกุลน้ำตาล ซึ่งอาจเป็นเหตุทำให้กระเพาะของเราไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ในบางคน อีกทั้ง ซูคราโลสมีต้นทุนการผลิตสูง ทำให้มีราคาขายค่อนข้างสูงมาก

Stevia

สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน

เป็นสารให้ความหวานธรรมชาติที่สกัดได้จากต้นหญ้าหวาน (มีชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Stevia rebaudiana Bertoni) มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ดูดความชื้นได้ดี มีความหวานประมาณ 250 - 300 เท่าของน้ำตาลทราย เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี่ และไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ไม่สะสมในร่างกาย จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก (เช่นเดียวกับสารให้ความหวานทั้ง 2 ตัวข้างต้น)

หญ้าหวานจะออกรสหวานช้ากว่าน้ำตาลทรายเล็กน้อย และรสหวานจะจางหายไปช้ากว่าน้ำตาลทราย ข้อดีของหญ้าหวานคือมีความทนทานต่อกรดและความร้อนได้ดี ไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาสีน้ำตาลเมื่อผ่านความร้อนสูง และไม่ถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ ทำให้มีการนำไปใช้ในการผลิตอาหารหลากหลายชนิด เช่น เครื่องดื่ม หมากฝรั่ง ลูกกวาด ไอศกรีม เยลลี่ มาร์มาเลด รวมถึง ยังมีการนำไปใช้ในการผลิตยาสีฟันเพื่อลดอาการฟันผุได้อีกด้วย

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการขึ้นทะเบียนให้สารสกัดจากหญ้าหวาน เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง ไม่เป็นอันตราย และไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายแต่อย่างใด นอกจากนี้ หญ้าหวานยังถูกจัดให้อยู่ในหมวดพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย

โดยสรุปแล้ว สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน จัดว่าเป็นสารให้ความหวานที่ดีและปลอดภัยที่สุดเลยก็ว่าได้

Xylitol

ไซลิทอล (Xylitol)

เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีคาร์บอน 5 อะตอมในโครงสร้าง พบได้ในพืช ผัก ผลไม้หลายชนิด เช่น สตรอเบอร์รี่ ต้นเบิร์ช เห็ด ผักกาดแก้ว รวมไปถึงข้าวโพด ไซลิทอลมีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาล แต่ให้พลังงานเพียงแค่ 40% ของน้ำตาล มีคุณสมบัติพิเศษคือเป็นน้ำตาลที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายให้เกิดสภาวะกรดในช่องปากได้ จึงไม่ก่อให้เกิดฟันผุ และยังช่วยลดปริมาณการเกิดคราบฟัน ช่วยลดเชื้อ Streptococcus mutans ที่อาศัยอยู่ในคราบฟันลงได้ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งของน้ำลาย ซึ่งช่วยให้สภาวะในช่องปากเป็นกลาง และน้ำลายยังเป็นตัวกลางในการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์มาหล่อเลี้ยงฟัน จึงเท่ากับเป็นการลดโอกาสของการเกิดฟันผุลงอีกทางหนึ่งด้วย

ถึงแม้ไซลิทอลจะเป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก แต่ด้วยคุณสมบัติต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้ไซลิทอลเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในขนมขบเคี้ยวจำพวกหมากฝรั่ง และยาสีฟัน

นอกจากตัวอย่างสารให้ความหวานทั้ง 4 ตัวข้างต้นแล้ว ยังมีสารให้ความหวานอีกหลายชนิดที่มีการใช้ในปัจจุบัน ซึ่งการจะเลือกบริโภคชนิดไหนขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้บริโภค สารบางตัวอาจไม่ปลอดภัยในบางกรณี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ใช้ รวมถึงสุขภาพของผู้บริโภคเองด้วย ดังนั้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลให้เพียงพอและเลือกรับประทานชนิดที่เหมาะสมกับตนเอง หากยังไม่แน่ใจ ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์

“Food Ingredient Technology Co., Ltd. จำหน่าย สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นสารให้ความหวานธรรมชาติที่ปลอดภัยที่สุด และนอกจากนี้ ยังจำหน่าย Sweet Natural Flavour หรือสารแต่งกลิ่นรสหวาน (ไม่ใช่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล) ที่สามารถใช้เพื่อทดแทนความหวานจากน้ำตาลได้มากถึง 30%-50% เหมาะสำหรับนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารมากมาย อาทิเช่น อาหารเสริม เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม เบเกอรี่ และของหวานชนิดต่าง ๆ

หากสนใจสามารถติดต่อ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ E-mail : sales@fit-biz.com
เรียบเรียงและอ้างอิงจาก :
  1. บทความเรื่อง “สารให้ความหวานแทนน้ำตาลดีจริงหรือ”. http://wongkarnpat.com/
  2. บทความเรื่อง “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล(Sweetenter) มีแต่ประโยชน์จริงหรือ”. https://www.noozup.me/
  3. บทความเรื่อง “จะลดน้ำตาล เลือกสารให้ความหวาน แบบไหนดีกว่ากัน”. http://www.lovefitt.com/
เรียบเรียงโดย

อทิตยา ทรัพย์สะสม

Food Ingredient Technology Co., Ltd.
1526-1540 Soi Phatthanakan 48, Phatthanakan Road,
Phatthanakan, Suan Luang, Bangkok 10250, Thailand
Tel : +66 2073 0977
Fax : +662 7229389


© Copyright 2019 by Food Ingredient Technology. All Rights Reserved.

GFCA Co., Ltd.